วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รัฐสภาไทย

บทบาทหน้าที่ของรัฐสภา
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติให้รัฐสภามีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ การพิจารณาตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี และการให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
          1. ตรากฎหมาย ในความหมายของรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ากฎหมายมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
               1) รัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งมีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญ
               2) พระราชบัญญัติ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์และรัฐสภา
               3) พระราชกำหนด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นข้อยกเว้น โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
          กฎหมายทั้ง 3 ประเภทนี้เท่านั้นที่เป็นความหมายของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นถึงแม้จะเรียกว่ากฎหมาย แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นต้น
          จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เป็นหลัก คือ พระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งหมายถึง รัฐสภานั่นเอง ดังนั้น รัฐสภาจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ หรือจะยกเลิกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรนิติบัญญัติ แต่ก็มีข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญว่า ในสถานการฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วนบางเรื่อง อาจจะเรียกประชุมสภาไม่ทัน กระบวนการพิจารณากฎหมายจะยาว ก็ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ และต้องนำพระราชกำหนดนั้นไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ สำหรับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายนั้น ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงเสนอร่างนั้นต่อวุฒิสภาพิจารณา เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
          2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ การเปิดอภิปรายทั่วไป และการตั้งกระทู้ถาม
               1) การเปิดอภิปรายทั่วไป
                    (1) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
                         1. การไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยให้สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
                         2. การไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้
                    (2) การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงโดยไม่มีการลงมติ
               2) การตั้งกระทู้ถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน การบริการราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรืองที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนหรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมว่าจะถามนายรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้นโดยไม่ต้องระบุคำถาม
          3. ให้ความเห็นชอบ ความเห็นชอบของรัฐสภา หมายความว่า เป็นความยินยอมสนับสนุนของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อให้ความเห็นชอบในต่างๆ ดังนี้
               1) การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
               2) การสืบราชสมบัติ
               3) การปิดสมัยประชุม
               4) การเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
               5) การให้ความเห็นชอบหรือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
               6) การประกาศสงคราม
               7) การทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ
          ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยมุ่งหวังว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นปัจจัยส่งผลให้บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถมากกว่าที่เป็นอยู่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา อันจะส่งผลต่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็ดี ของสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ของข้าราชการระดับสูงก็ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วุฒิสภาจึงมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ หรือถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

รูปแบบของรัฐสภา
          รัฐธรรมนูญของประเทศไทย กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภา 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า สภาล่าง และสภาสูง เหตุผลที่จัดรูปแบบของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ดังนี้
          1. ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ ยับยั้ง กลั่นกรอง ถ่วงดุล และรอบคอบ ในการออกกฎหมาย เนื่องจากอำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาคุ้มครองประชาชน ถ้าให้มีสภาเดียวอาจใช้อำนาจนั้นโดยไม่มีการพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งอาจขาดความรอบคอบ เช่น ออกกฎหมายที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ การมีสองสภาช่วยกันพิจารณากลั่นกรอง ช่วยกันทักท้วง ยับยั้งหรือแก้ไขเพิ่มเติม โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ได้กฎหมายที่สมเหตุสมผล ถูกต้อง ยุติธรรม ครอบคลุมทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
          2. ช่วยประนีประนอมและประสานความเข้าใจ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล ถ้ามีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาอาจรุนแรง และนำไปสู่การยุบสภาหรือสภาลงมติไม่ไว้ว่างใจรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ จึงดูประหนึ่งว่ารัฐบาล คือ ผู้ที่เข้ามารับใช้หรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งพวกเขา ในกรณีเช่นนี้ การมีสภาที่สองอาจช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้ เพราะสภาที่สองหรือวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่เคารพนับถือของคนในสังคม และเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
          สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมาจากการการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และวุฒิสภามีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายมากกว่าวุฒิสภา ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่มากกว่าสภาผู้แทนราษฎรในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น และให้สภาทั้งสองมีการประชุมร่วมกันในกรณีสำคัญ ๆ เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การปรึกษาพระราชบัญญัติใหม่ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบและพระราชทานคืนมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศ การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม เป็นต้น
          รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน เป็นสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน และสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ เพราะต้องการให้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนระหว่างหน้าที่นิติบัญญัติกับหน้าที่บริหารในฐานะที่เป็นรัฐบาล โดยทางอ้อมรัฐธรรมนูญนั้น เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มาจากบัญชีรายชื่อ ดำรงตำแหน่งในทางบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้สะดวกกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพราะไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม และไม่มีการเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภา จึงมีคนกล่าวขานถึงระบบเช่นนี้ว่าเลือกบัญชีรายชื่อเหมือนเลือกว่าที่รัฐมนตรี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งประชาชนเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 200คน อีกด้วย
          บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับรัฐสภา กระจายอยู่ในมาตราต่าง ๆ จำเป็นต้องอ่านประกอบกัน จึงจะได้ใจความบริบูรณ์ เพื่อความสะดวกแก่การทำความเข้าใจ จึงสรุปไว้ด้วยกันในหัวข้อต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไป

สภาผู้แทนราษฎร
          สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 500 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเมื่อครบวาระจะต้องมีการจัดตั้งการเลือกตั้งใหม่พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน จำแนกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามที่มาได้ 2 ประเภท คือ
          1. สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน โดยให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคละ 1 บัญชีมีจำนวนไม่เกิน 10 คน หากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง
          2. สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน จาก 400 เขต ทั่วประเทศ
          คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
          1) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
          2) อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
          3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสมาชิกสภาชิกผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา
          4) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน
          5) ผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ด้วยคือ
               (1) มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครไม่น้อยกว่า 1 ปี ติดต่อกันนับจากวันสมัครรับเลือกตั้ง
               (2) เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดที่สมัคร
               (3) เกิดในจังหวัดที่สมัคร
               (4) เคยศึกษาในจังหวัดที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
               (5) เคยรับราชการ หรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
          6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อไปนี้
               (1) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (2) เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
               (3) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช หรือเป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
               (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล
               (5) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้งเว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาท
               (6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (7) เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดปกติ
               (8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง
               (9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
               (10) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
               (11) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
               (12) เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
               (13) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบหรือจงใจรายการอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
               (14) เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีมติ จนถึงวันที่เลือกตั้ง
          หากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่นๆ เช่น การยุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกผู้แทนราษฎรตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมก็ได้ ส่วนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งซ่อมจะอยู่ในตำแหน่งได้เท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดจากวันที่ครบ 30 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
          ให้สมาชิกผู้แทนราษฎรคนหนึ่งเป็นประธานสภา และให้มีรองประธานสภาหนึ่งหรือสองคน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภา นอกจากตำแหน่งประธานสภาและรองสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้มีตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาด้วย โดยแต่งจากสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนจำนวนมากที่สุด แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกในสังกัดพรรคการเมืองนั้นมิได้เป็นรัฐมนตรี

วุฒิสภา
          วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน โดยให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจังหวัดใดมีสมาชิกวุฒิสภากี่คน ให้เฉลี่ยตามจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี
          คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
          1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
          2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันเลือกตั้ง
          3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
          4) มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
               (1) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัคร
               (2) เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่สมัคร
               (3) เกิดในจังหวัดที่สมัคร
               (4) เคยศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดที่สมัคร
               (5) เคยรับราชการในจังหวัดที่สมัคร
          5) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
               (1) เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (2) เป็นสมาชิกสภาผู้สภาแทนราษฎร หรือเคยเคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรมาแล้วยังไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
               (3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งในวุฒิสภาชุดก่อนการสมัคร
               (4) เป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร

          - เมื่ออายุอายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามวาระ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรภายใน 30 วัน แต่ถ้าสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น เช่น ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ เป็นต้น จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน และผู้ได้รับเลือกจะดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระผู้ที่ตนแทน
          - สมาชิกวุฒิสภาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้
          - ให้วุฒิสภามีสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานสภา และให้มีรองประทานสภาคนหนึ่งหรือสองคน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติขอสภา
การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส. และ สว.
          สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้งและสิ้นสุดลงเมื่อ
          1. ตาย
          2. ลาออก
          3. ถึงคราวออกของอายุสภา ( สส.4 ปี สว.6 ปี ) หรือเมื่อมีการยุบสภา (เฉพาะ สส. หรือ สว. ไม่มีการยุบสภา )
          4. ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
          5. มีลักษณะอันต้องห้าม ระหว่างที่เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
          6. กระทำการอันต้องห้าม ระหว่างที่เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
          7. วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพ
          8. ขาดการประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภา
          9. ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
          นอกจากนี้สมาชิกสมาผู้แทนราษฎรยังมีกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพอีกด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้
          1. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
          2. ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี
          3. ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเองเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่า สิ้นสุดสมาชิกภาพ นับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่ามติดังกล่าวมีมติขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือขัด หรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          ถ้าการคัดค้านไม่ได้ผลให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าคำคัดค้านได้ผล คือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับคำคัดค้าน สมาชิกผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันวินิจฉัย
การประชุมของรัฐสภา
          รัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ทั้งทางด้านธุรการและการประชุม ระยะแรกของรัฐสภาไทยซึ่งจัดให้มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และประกาศให้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แล้ว ได้มีการจัดตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมากรมนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักเลขาธิการรัฐสภา มีฐานะเทียบเท่ากรม แต่ให้เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวง ทบวงใด มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา

          ปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งการดำเนินกิจการของรัฐสภาออกเป็น 2 ส่วน คือ
          1. สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ
          2. สำนักเลขาธิการวุฒิสภา มีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ
          หน่วยงานทั้งสองมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถานที่ประชุมสภา การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการ จัดทำรายงานการประชุม การเผยแพร่ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ การประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เป็นต้น      

สมัยประชุม
          สมัยประชุม คือ ช่วงเวลานับแต่วันเปิดประชุมถึงวันปิดประชุม จำแนกได้ 2 สมัย ได้แก่ สมัยประชุมสามัญ และสมัยประชุมวิสามัญ
          1. สมัยประชุมสามัญ หมายถึง สมัยประชุมตามปกติ ที่กำหนดไว้ตายตัวว่าจะประชุมตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด ในแต่ละปีโดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ไว้ การประชุมสมัยสามัญมีกำหนดสมัยละ 120 วัน ซึ่งอาจประชุมเกิน 120 วันได้ เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้ขยายเวลา แต่จะประชุมน้อยกว่า 120 วันไม่ได้ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบ
          สมัยประชุมสามัญ มีปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเรียกว่า สมัยประชุมสามัญทั่วไป ครั้งหลังเรียกว่า สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
          1.1 สมัยประชุมสามัญทั่วไป การประชุมรัฐสภาครั้งแรกถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของสมัยประชุมสามัญทั่วไป การประชุมสามัญทั่วไป สามารดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การอภิปรายทั่วไป การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
          1.2 สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดว่าจะเริ่มวันใดถึงวันใด และถ้านับเวลาจากวันประชุมครั้งแรกถึงวันสิ้นศักราช มีเวลาไม่ถึง 150 วัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติในปีนั้นก็ได้ การประชุมสามัญนิติบัญญัติ ประชุมได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งกิจการอันเป็นความจำที่เร่งด่วน ได้แก่ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง หรือถอดถอนออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม การแก้ไข้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
          ถ้าพิจารณาเรื่องอื่นนอกจากนี้ รัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ
ทั้ง 2 สภา
          2. สมัยประชุมวิสามัญ หมายถึง สมัยประชุมที่เพิ่มขึ้นจากสมัยประชุมสามัญ เนื่องจากมีความจำเป็น เช่น มีพระราชบัญญัติสำคัญซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้น หรือมีเรื่องที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบเป็นกรณีเร่งด่วน เป็นต้น
          พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภา ทั้งสมัยประชุมสภาและวิสามัญ

เอกสิทธิ์และการคุ้มกัน
          เอกสิทธิ์ คือ อภิสิทธิ์ที่มีเฉพาะตัวและเฉพาะโอกาส ของสมาชิกผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง รบกวน กีดกันจากฝ่ายบริหารไม่ให้สมาชิกผู้นั้นได้อภิปรายซักถาม ควบคุมการบริหาร ซึ่งจะเสียประโยชน์แก่แผ่นดิน ทำให้สมาชิกแต่ละคน สามารถแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนได้ตามความเห็นของตน ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกในทางใดมิได้ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนายหนึ่ง อาจกล่าวหาว่ารัฐมนตรีผู้ใดทุจริตรับสินบนมาจากใครเท่าใด รัฐมนตรีผู้นั้นหรือผู้รับสินบนหรือผู้ถูกกล่าวหาพาดพิงจะนำไปฟ้องร้องในทางอาญาหรือทางเพ่งมิได้
          เอกสิทธิ์เช่นว่านี้คุ้มครองไปถึงรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. ที่ตอบข้ออภิปรายซักถามดังกล่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวในรัฐสภาด้วย
          แต่เอกสิทธิ์นี้จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะการกล่าวในรัฐสภาเท่านั้น และจะไม่ได้รับความคุ้มครองในการประชุมที่มีการถ่ายทอดเสียงโดยวิทยุหรือโทรทัศน์ ออกไปนอกบริเวณสภา หมายความว่า หากมีการถ่ายทอดเสียงดังกล่าวออกไปนอกสภาแล้ว ผู้ถูกกล่าวพาดพิง ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาย่อมสามารถฟ้องร้องได้
          การคุ้มกันจากการจับกุมคุมขัง หรือมีหมายเรียก
          การคุ้มกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีเฉพาะในระหว่างสมัยประชุมเท่านั้น
          1. ห้ามมิให้จับ หรือคุมขัง หรือมีหมายเรียกตัวไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะถูกจับขณะกระทำความผิด หรือได้รับอนุญาตจากประธานสภา
          2. การจับในขณะกำลังทำความผิด ผู้จับจะต้องรายงานไปยังประธานสภาโดยด่วน และประธานสภาอาจสั่งให้ปล่อยได้
3. ถ้าสมาชิกถูกฟ้องคดีอาญาไม่ว่าฟ้องนอกหรือฟ้องในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่สังกัด
          4. หากถูกคุมขังอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม ถ้าประธานสภาที่สมาชิกสังกัดร้องขอ ให้พนักงานสอบสวน หรือศาลต้องสั่งปล่อยทันที    

          การประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง
          สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาประชุมร่วมกันเป็นการประชุมรัฐสภาในกรณีที่สำคัญ ๆ เช่น
          1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
          2. การปฏิญาณตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
          3. การรับทราบการแก้ไข้เพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
          4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในราชสมบัติ
          5. การปรึกษาพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
          6. การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
          7. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมก่อนกำหนด
          8. การแถลงนโยบายของรัฐบาล
          9. การเปิดอภิปรายทั่วไป  เมื่อคณะรัฐมนตรีต้องการฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา
          10. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม
          11. การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศ
          12. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

          ระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาจัดประชุมได้เฉพาะบางกรณี
          ในวาระที่สภาผู้แทนราษฎรหมดอายุหรือถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณี ดังต่อไปนี้
          1. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงค์ตามพระราชดำริ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะหรือเพื่อให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่คณะองคมนตรีเสนอ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งไว้
          2. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ซึ่งมติของกรณีนี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
          3. เป็นการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติถอดถอนคนออกจากตำแหน่ง
          4. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่ เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่ง เช่น กรรมการ
การเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น 

ประชาชนกับรัฐสภา
          สมาชิกรัฐสภาไม่ว่า สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ต่างก็เป็นผู้แทนของประชาชนคนไทยทั้งปวง ไม่จำกัดว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตใด หรือจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด และไม่จำกัดว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดใด ดังนั้นประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ สอบถามหรือให้คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาได้ทุกคน โดยอาจติดต่อสมาชิกแต่ละคนโดยตรงเป็นการส่วนตัว หรือจะร่วมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ และอาจทำได้ด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ
          ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประชาชนอาจรวมตัวกันเป็นหมู่คณะเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา (ประฐานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น