วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศาลยุติธรรมไทย

ศาลยุติธรรม
          ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
          ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น ได้แก่
          1. ศาลชั้นต้น คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นต้น เช่น ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลอาญา ศาลแพ่ง
          2. ศาลอุทธรณ์ คือ ศาลสูงถัดจากศาลชั้นต้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          3. ศาลฎีกา คือ ศาลสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีศาลเดียวในกรุงเทพมหานคร คำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่าสิ้นสุดจะฟ้องร้องต่อไปอีกไม่ได้ส่วนการที่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้ได้รับโทษทางอาญา จะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ ได้ (เรียกว่าทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา) เพื่อรับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การพิพากษาใหม่ และไม่ใช่เป็นการขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกา
          ศาลชั้นต้น
          ศาลแขวงเป็นศาลชั้นต้นขนาดเล็ก มีอำนาจจำกัด มีองค์คณะผู้พิพากษา 1 คน และมีอำนาจ  ดังนี้
          1. ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
          2. ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี
          3. ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง หรือคำขออื่นยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
          4. ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
          5. ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
          6. พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาท หรือจำนวนเงินที่ฟ้อง ไม่เกิน 3 แสนบาท
          7. พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไม่ได้
          ศาลชั้นต้นอื่น เช่น ศาลจังหวัด ศาลแพ่ง ศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาทุกคดีในเขตอำนาจศาลของต้น มีองค์คณะผู้พิพากษา 1 คน มีอำนาจเหมือนศาลแขวง และผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง
          ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร
          เขตกรุงเทพมหานครมีศาลชั้นต้นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง ศาลล้มละลายกลาง เป็นต้น
          1. ศาลแขวง เป็นศาลที่พิจารณาคดีอาญาที่มีโทษไม่สูงและคดีทางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก ถ้าศาลแขวงเห็นว่าคดีใดคำพิพากษาของตนจะเกินอำนาจของศาลแขวงก็ให้เสนอความเห็นไปยังศาลแพ่ง หรือศาลอาญา หรือศาลจังหวัดมีนบุรี เพื่อพิจารณาแทน ศาลแขวงในกรุงเทพมหานคร มีเพียง 7 แห่ง คือ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลแขวงพระโขนง ศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงปทุมวัน
          2. ศาลแพ่ง และศาลอาญา มีเขตรับผิดชอบตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร ยกเว้นท้องที่ที่อยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดมีนบุรี แต่ต้องเป็นความแพ่งหรือความอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง
          3. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นศาลที่รับฟ้องคดีแพ่ง (ต่อศาลแพ่ง) และคดีอาญา (ต่อศาลอาญา) ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง ยานนาวา สัมพันธวงศ์ คลองเตย ประเวศ สวนหลวง วัฒนา บางนา และบางคอแหลม แต่ต้องเป็นความแพ่งหรือความอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
          4. ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี เป็นศาลที่รับฟ้องคดีทางแพ่ง (ต่อศาลแพ่ง) และคดีอาญา(ต่อศาลอาญา) ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นภายในท้องที่เขตธนบุรี แต่ต้องเป็นความแพ่งหรือความอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
          5. ศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นศาลชั้นต้นในพื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง การที่ใช้ชื่อว่า ศาลจังหวัด อาจทำให้สับสนบ้าง เพราะที่จริงแล้วศาลนี้เป็นศาลชั้นต้นที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่เหมือนกับศาลจังหวัดเท่านั้น
          6. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถ้าที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ เรียกว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในต่างจังหวัด เรียกว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ดังต่อไปนี้
               (1) คดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่า กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เด็ก ตามกฎหมาย คือ ผู้ที่อายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ ส่วน เยาวชน คือ ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 14 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ 
               (2) คดีที่ผู้เยาว์มีประโยชน์ได้เสีย เช่น การจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ การจัดหาผู้ปกครองให้ผู้เยาว์ เป็นต้น
               (3) คดีที่ศาลต้องพิจารณาเกี่ยวกับตัวเด็ก เช่น คดีตามกฎหมายการศึกษาภาคบังคับคดีตามกฎหมายควบคุมเด็กและนักเรียน เป็นต้น
          7. ศาลแรงงานกลาง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการพิพาทด้านแรงงานซึ่งเกิดเพิ่มขึ้นมากในระยะที่ผ่านมา และหากให้คดีแรงงานไปพิจารณาในศาลปกติก็อาจทำให้ล่าช้าเกินไป การตั้งศาลแรงงานจึงทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีความเป็นธรรมอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเป็นศาลที่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องแรงงาน ศาลแรงงานกลางมีเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร ยกเว้นคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดที่มีศาลแรงงานกลางสาขาเปิดทำการ
          8. ศาลภาษีอากรกลาง เป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งในคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากร
          9. ศาลล้มละลาย เป็นศาลชั้นต้นที่เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีศาลล้มละลายกลางที่ทีพื้นที่รับผิดชอบตลอดเขตกรุงเทพมหานคร แต่ในระยะเริ่มตันนี้คดีที่เกิดนอกกรุงเทพมหานครก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางได้ ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย ทั้งนี้เพราะคดีล้มละลายมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมจึงควรได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น
          10. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น
          ศาลชั้นต้นในต่างจังหวัด
          ศาลชั้นต้นในต่างจังหวัด หมายถึง ศาลชั้นต้นที่อยู่ในจังหวัดนอกเขตกรุงเทพมหานคร จำแนกได้ 4 ประเภท คือ ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด และศาลแรงงานจังหวัด
1. ศาลแขวง ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้จัดตั้งศาลแขวงขึ้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและทำการไต่สวนโดยผู้พิพากษาคนเดียวในเขตพื้นที่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง สาเหตุที่จัดตั้งศาลแขวงขึ้นในต่างจังหวัด ก็เพื่อแบ่งเบาภาระของศาลจังหวัด ปัจจุบันมีศาลแขวงในต่างจังหวัดทั้งหมด 20 แห่ง ใน 20 จังหวัด และในขณะนี้รัฐมีนโยบายที่จะจัดตั้งศาลแขวงขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
2. ศาลจังหวัด เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ภายในเขตจังหวัดยกเว้นในเขตอำนาจของศาลแขวง อาจให้ศาลแขวงพิจารณาพิพากษาได้ นอกจากนี้ อาจพิจารณาพิพากษาคดีความภายในเขตศาลจังหวัดก็ได้ ถ้าอยู่ในเขตอำนาจ เช่น คดีที่โอนมาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือคดีที่เกิดในต่างประเทศ เป็นต้น ศาลจังหวัดเป็นศาลชั้นต้นที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด อาจตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองของจังหวัด หรือตั้งอยู่ที่อำเภออื่นใดก็ได้
3. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน แยกออกต่างหากจากศาลแขวงและศาลจังหวัด ขณะนี้รัฐมีนโยบายที่จะจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด
4. ศาลแรงงานจังหวัด เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเรื่องแรงงานในเขตจังหวัด ซึ่งรัฐมีนโยบายจะจัดตั้งศาลแรงงานในจังหวัดที่มีกรณีพิพาททางด้านแรงงานมาก
          ศาลอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่อุทธรณ์มาจากศาลชั้นต้น กล่าวคือ ในกรณีที่คู่ความไม่พอใจในคำพิพากษาหรือคำตัดสินของศาลชั้นต้น ก็ให้มีสิทธิอุทธรณ์มายังศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์
          องค์คณะผู้พิพากษา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน
          อำนาจ ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจดังนี้
          1. พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอำนาจศาล
          2. พิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
          3. วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ตามกฎหมาย
          4. วินิจฉัยชี้ขาดคดีอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
          เดิมศาลอุทธรณ์มีอยู่เพียงศาลเดียว อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์เพิ่มขึ้นอีก 9 ศาล เรียกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น ปัจจุบันศาลอุทธรณ์จึงแบ่งออกเป็นศาลอุทธรณ์กลาง และศาลอุทธรณ์ภาค โดยศาลอุทธรณ์ภาคแบ่งออกเป็นศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึงภาค 9 
          ศาลฎีกา
          ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดเพียงศาลเดียวเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว คู่ความที่ยังไม่พอใจคำพิพากษา อาจฎีกายังศาลฎีกาได้อีกเป็นครั้งสุดท้าย คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นอันสิ้นสุดคู่ความไม่สามารถฟ้องร้องต่อไปยังศาลอื่นได้อีก
          องค์คณะผู้พิพากษา ผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน
          อำนาจ ศาลฎีกามีอำนาจ ดังนี้
          1. พิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำส่งของศาลอุทธรณ์ (หรือศาลชั้นต้นในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้)
          2. มีคำสั่ง หรือพิจารณาพิพากษาคำร้องคำขอ หรือพิจารณาพิพากษาคดีที่กฎหมายอื่นกำหนดให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยหรือพิจารณาพิพากษา
          นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษากรณีที่ที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการ การเมืองอื่นถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยลงคะแนนลับ และเลือกเป็นรายคดี
          เหตุที่กำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็คือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพหรือทรัพย์สินของประชาชนได้

          การบริหารงานศาลยุติธรรม
          ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในศาลยุติธรรมแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมกับข้าราชการศาลยุติธรรม

          ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม
          ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม มักเรียกกันโดยทั่วไปว่าผู้พิพากษา เป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาประจำศาล และผู้ช่วยผู้พิพากษา

          ข้าราชการศาลยุติธรรม
          ข้าราชการศาลยุติธรรม คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการต่าง ๆ ในศาลยุติธรรมหรือสำนักงานของศาลยุติธรรม เช่น ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี งานส่งเสริมงานตุลาการ และงานวิชาการ เพื่อช่วยค้นคว้าทางวิชาการแก่ผู้พิพากษา และประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ศาลยุติธรรมปฏิบัติงานได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

          ราชการในศาลยุติศาล
          ราชการของศาลยุติธรรมประกอบด้วยการดำเนินการของศาล การดำเนินการเกี่ยวกับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม และการดำเนินการเกี่ยวกับข้าราชการศาลยุติธรรม มีคณะกรรมการ 3 คณะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้
1. คณะกรรมการการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.)
กบศ.มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการ และงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน และประเพณีปฏิบัติของทางราชการศาลยุติธรรม เช่น มีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
          1. ออกระเบียบหรือประกาศ หรือมีมติ เพื่อการบริหารราชการศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการ และงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรม ให้เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา รวมทั้งมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ประกาศ หรือมตินั้นด้วย
          2. ให้ความเห็นชอบในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการ และการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนของศาลยุติธรรม รวมทั้งมีอำนาจเสนอขอตั้งศาลใหม่ต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
          3. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในการบริหารราชการของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม
          4. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณ และการพัสดุของศาลยุติธรรมและสำนักศาลยุติธรรม
          5. กำหนดวันทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และการลาหยุดราชการของข้าราชการฝ่ายตุลาการ และลูกจ้างของสำนักงานศาลยุติธรรม
2. คณะกรรมการตุลาการศาลยุตธรรม (กต.)
กต. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการศาลยุติธรรม (ผู้พิพากษา) ให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่นการแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การลงโทษ เป็นต้น โดย กต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อกต.) ประจำชั้นศาล ศาลละ 1 คณะ ได้แก่
          1. อกต. ศาลฎีกา
          2. อกต. ศาลอุทธรณ์
          3. อกต. ศาลชั้นต้น
          อกต. ของแต่ละชั้นของศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรอง เสนอความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง การโยกย้ายแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งการลงโทษข้าราชการตุลาการในชั้นศาลนั้นต่อ กต. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3. คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (กศ.)
          กศ. มีอำนาจออกระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอื่นของสำนักงานศาลยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการศาลยุติธรรม เช่น การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง การลงโทษ การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น